วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รู้จัก...ASEAN



รู้จัก ....อาเซียน....ASEAN..... เรียบเรียงโดย ศน.พรเพ็ญ ฤทธิลัน



อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN)

สำหรับ ASEAN กับ Asian จะออกเสียงคล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน Asian หมายถึง ชนชาติในทวีปเอเชียทั้งหมด ส่วน ASEAN หมายถึง ชาติในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ

อาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย) นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์ และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทย) ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 ม.ค. 2527) เวียดนาม (วันที่ 28 ก.ค. 2538) ลาว พม่า (วันที่ 23 ก.ค. 2540) และ กัมพูชา (วันที่ 30 เม.ย. 2542) ตามลำดับ จากการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิก ทำให้อาเซียนมีสมาชิกครบ 10 ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

วัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งอาเซียน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และการบริหาร ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ สัญลักษณ์ของอาเซียน คือ รูปรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน รวงข้าว 10 ต้น หมายถึง ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ สีเหลืองหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

สัญลักษณ์ของอาเซียน
คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพ และความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ และความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

อาเซียนมีความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรมครอบคลุมทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เยาวชน และได้มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ในพ.ศ. 2546 ผู้นำประเทศอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันจัดตั้ง “ประชาคม สังคม อาเซียน” ซึ่งมีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในเสาหลัก เพื่อให้การพัฒนาการร่วมมือของอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปโดยมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และอาเซียนได้ตั้งเป้าหมายเป็นประชาคมสังคมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ในปีพ.ศ. 2558 ทุกประเทศจะเปิดประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว คือ อาเซียนเป็นตลาดหนึ่งเดียวหนึ่งประชาคม (ASEAN’s one-market, one-community) โดยมุ่งหวังเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity) เพื่อรองรับการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ผลลัพธ์ที่เกิดจากการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คือ ประเทศสมาชิกจะมีกลไกและเครื่องมือที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ประชาชนของประเทศสมาชิกมีความเป็นอยู่ดีกินดีและมีฐานะทางสังคมที่ทัดเทียมกัน
*** พร้อมหรือยังคะ...กับการก้าวเข้าสู่ทางเดิน ASEAN.... ***

Bibliography
กรมประชาสัมพันธ์. สำนักนายกรัฐมนตรี. ประเทศไทยกับอาเซียน. กรุงเทพฯ : เปเปอร์เฮาส์, 2552.
ปรีช่ หมั่นคง. "รู้ทันอาเซียน", วิชาการ. 14(1) มกราคม - มีนาคม, 2554.
http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1324
http://app.tisi.go.th/mra/history.html

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จุดเน้น...การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน



จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
เพื่อการขับเคลื่อนหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
สรุปโดย............ศน.พรเพ็ญ ฤทธิลัน



ทักษะและความสามารถ (หน้า 3-9)
ป.1-3 อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน ทักษะชีวิต การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

ป.4-6 อ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง ทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน ทักษะชีวิต การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

ม.1-3 ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี รักการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

ม.4-6 ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี รักการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

คุณลักษณะ

มีความมุ่งมั่น รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

อยู่อย่างพอเพียง ซื่อสัตย์สุจริต

มีวินัย รับผิดชอบ ใฝ่เรียนรู้

มีจิตสาธารณะ ใฝ่ดี
บทบาทกระทรวงศึกษาธิการ

1.ประกาศจุดเน้นกับการพัฒนาผู้เรียน 2.ให้นโยบายกับทุกหน่วยงาน

3.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างมีรูปธรรม 4.ประชาสัมพันธ์ผลักดันอย่างต่อเนื่อง

5.กำกับติดตามเป็นระยะ


บทบาทสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

1.จัดทำคำอธิบายระดับความสามารถของผู้เรียนตามจุดเน้น

2.สร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.จัดทำสื่อฯ กระตุ้น/ผลักดัน ให้เกิดการปฏิรูประดับห้องเรียน

4.กำกับติดตามและประเมินผล


บทบาทสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

1.จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศผู้เรียนรายบุคคล/รายโรงเรียน

2.จัดทำ/ส่งเสริมให้มีแผนพัฒนาผู้เรียนตามจุดเน้นระดับเขตพื้นที่/โรงเรียน

3.ออกแบบระบบส่งเสริมสนับสนุนและประกันคุณภาพที่จะช่วยสถานศึกษาให้ดำเนินการตามจุดเน้น

4. แผนนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลที่คล่องตัวต่อเนื่อง


บทบาทสถานศึกษา

1.จัดทำฐานข้อมูลผู้เรียน โรงเรียนตามจุดเน้น

2.ศึกษาบริบทใน/นอกโรงเรียนเพื่อจัดทำแหล่งเรียนรู้(สถานที่/บุคคล)

3.ปรับ/ออกแบบตารางเรียน จัดการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนตามจุดเน้น

4.ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

5.จัดทำรายงานความก้าวหน้าของผู้เรียนตามจุดเน้น

(หน้า30)


ตัวชี้วัดภาพความสำเร็จ

ระดับโรงเรียนของจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (หน้า 30-32)


ระยะที่ 1 เริ่มต้นค้นวิเคราะห์ (ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553)

1) มีข้อมูลผู้เรียนรายบุคคลครบถ้วนพร้อมใช้

2) มีแผนพัฒนาผู้เรียนตามจุดเน้นที่ชัดเจนปฏิบัติได้

3) มีฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเพียงพอ

4) มีตารางที่ยืดหยุ่นตามจุดเน้น

5) มีกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนโดยมีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเวลาเรียน

6) มีเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลายครอบคลุมตามจุดเน้น

ระยะที่ 2 บ่มเพาะประสบการณ์ (ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554)


1) ผู้เรียนได้สำรวจสืบค้นทำโครงงาน โครงการจากแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน

2) ครูใช้แหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างคุ้มค่า

3) จัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน

4) ชุมชนเข้าใจ ร่วมมือ สนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้

5) ครูพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้/สื่อ อย่างมีประสิทธิภาพ

6) มีการนำผลการพัฒนาผู้เรียนตามจุดเน้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้


ระยะที่ 3 สานต่อองค์ความรู้ (ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554)

1) มีการนำผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาใช้ในการปรับปรุงกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน

2) มีผลการวิจัยและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

3) มีรายงานผลความก้าวหน้าในการพัฒนาผู้เรียน

4) มีการสร้างเครือข่าย / แลกเปลี่ยนเรียนรู้


ระยะที่ 4 นำสู่วิถีคุณภาพ (ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555)

1) มีนวัตกรรมการบริหารเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามจุดเน้น

2) มีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามจุดเน้น

3) มีเครื่องมือ / ประเมินผลการพัฒนาผู้เรียนที่มีคุณภาพ

4) มีการเผยแพร่การวิจัยและผลการพัฒนาผู้เรียน


ระยะที่ 5 มีนวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ (ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555)

1) ผู้เรียนเรียนรู้อย่าง มีความสุข มีความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะตามจุดเน้น

2) มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่

3) ครูเป็นครูมืออาชีพ

4) โรงเรียนมีการจัดการความรู้

5) มีเครือข่ายร่วมพัฒนาที่เข้มแข็ง

6) สาธารณชนยอมรับ และมีความพึงพอใจ

อ้างอิงจาก..... ROADMAP จุดเน้นสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด กรุงเทพมหานคร 2553

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2553 สพป.กาฬสินธุ์ 3













โดย...พรเพ็ญ ฤทธิลัน : ศึกษานิเทศก์
ผลการทดสอบทางการศึกษาชั้นพื้นฐานระดับชาติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2553 ของโรงเรียนในสังกัด สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการทดสอบระดับประเทศ พบว่า 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยร้อยละระดับประเทศ ยกเว้นกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่ต่ำกว่า
ระดับประเทศ และกลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่มีคะแนนต่ำที่สุด ได้แก่ ภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 23.72) กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ สุขศึกษาพลศึกษา (ร้อยละ 55.27) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมากที่สุด คือ สาระศิลปะ (22.87)
ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการทดสอบ ระดับประเทศ พบว่า เกือบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยร้อยละระดับประเทศ ยกเว้นกลุ่มสาระการ เรียนรู้ศิลปะ (28.67) กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงสุดคือ สุขศึกษา (71.30)และสาระภาษาอังกฤษต่ำที่สุด (16.13) เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมาย ร้อยละ 5 ของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่.6 มี 2 สาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (+16.82) และสาระวิทยาศาสตร์ (+5.69) เท่านั้นที่สูงกว่าเป้าหมายนอกนั้นต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2552 พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละเพิ่มได้แก่ สังคมฯ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และการงานฯ โดยเฉพาะสังคมเพิ่มมากที่สุด (+16.82) ส่วนสาระภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสุขศึกษา ต่ำกว่า ปีการศึกษา 2552 โดยเฉพาะสาระภาษาไทยลดลงมากที่สุด (-6.18) ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ .3 เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายปีการศึกษา 2553 ที่ตั้งไว้ร้อยละ 5 ของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 พบว่า มีสาระภาษาไทย (+9.20) สุขศึกษาพลศึกษา (+17.38) และการงานอาชีพและเทคโนโลยี (+15.18) ที่สูงกว่าเป้าหมาย ส่วนสาระที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ สังคมศึกษาฯ (+1.92) คณิตศาสตร์ (+0.52) วิทยาศาสตร์ (+1.81) สาระภาษาอังกฤษ (-2.17) และศิลปะ (-2.18) เมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2552 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละที่ต่ำกว่าผลการทดสอบใน ปีการศึกษา 2552 ได้แก่ สาระภาษาอังกฤษ (-2.17) และศิลปะ (-2.18) ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาระภาษาไทย (+9.20) สุขศึกษาพลศึกษา (+17.38) และการงานอาชีพและเทคโนโลยี (+15.18) สังคมศึกษาฯ (+1.92) คณิตศาสตร์ (+0.52) และวิทยาศาสตร์ (+1.81)
เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกจากผลการทดสอบฯ พบจุดอ่อนเพื่อปรับปรุงการจัดการศึกษาให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้รับรู้รับทราบและเข้าใจได้อย่างเหมาะสม เช่นในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาษาไทย : หลักการใช้ภาษา การวิเคราะห์และนำไปใช้, คณิตศาสตร์ : ทักษะและกระบวนการ วิทย์ : สารและคุณสมบัติของสาร, การแปลความหมายจากแผนภาพ - กราฟ สังคมศึกษาฯ : เศรษฐศาสตร์, สุขศึกษาพลศึกษา : การเสริมสร้างสุขภาพ, ศิลปะ:นาฏศิลป์, การงานฯ : เทคโนโลยีเพื่อการทำงาน และภาษาอังกฤษ : การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น ครูผู้สอน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารทั้งหลาย ต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ต่อ เช่น มาตรฐานที่ควรปรับปรุง จะปรับหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอน สื่อนวัตกรรมอย่างไร กำหนดตัวชี้วัดอย่างไร ข้อสอบข้อไหนบ้าง รูปแบบข้อสอบแบบใดบ้างที่นักเรียนต้องฝึกฝน เหล่านี้เป็นฐานคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของเราเพิ่มสูงขึ้นทุกสาระการเรียนรู้..

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน








แบบทดสอบ (Test) หมายถึง ชุดของคำถาม (item) ที่มุ่งวัดความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถภาพทางสมองด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบระดับความรู้ความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย อาจเป็นความรู้ที่มีอยู่แต่เดิม ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม หรือเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ซึ่งแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการเรียนรู้นี้เรียกว่าแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Achievement Test)

ขั้นตอนการสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีขั้นตอนการสร้างแบ่งได้ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผนการสร้างแบบทดสอบ ประกอบด้วย
1) กำหนดจุดมุ่งหมายของการทดสอบ สิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้สร้างข้อสอบจะต้องรู้ คือ อะไรคือจุดมุ่งหมายของการทดสอบ ทำไมจึงต้องมีการสอบ และจะนำผลการสอบไปใช้อย่างไร
2) กำหนดเนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการวัด เนื้อหาที่ต้องการวัดได้จากจุดมุ่งหมายของการทดสอบ ผู้สร้างข้อสอบจะต้องวิเคราะห์จำแนกเนื้อหาที่ต้องการวัดให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด สำหรับพฤติกรรมที่ต้องการวัดนั้นอาจจำแนกตามทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่ง เช่น ทฤษฎีของบลูม (Benjamin S. Bloom) ซึ่งจำแนกพฤติกรรมเป็น 6 ระดับ คือ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า เป็นต้น
3) กำหนดลักษณะหรือรูปแบบของแบบทดสอบ อาจเลือกแบบทดสอบประเภทความเรียงหรือแบบทดสอบอัตนัย (Subjective Test) แบบตอบสั้นและเลือกตอบหรือแบบทดสอบปรนัย (Objective Test) ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการทดสอบเช่นกัน
4) การจัดทำตารางวิเคราะห์เนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการวัด เป็นการวางแผนผังการสร้างข้อสอบ ทำให้ผู้สร้างข้อสอบรู้ว่าในแต่ละเนื้อหาจะต้องสร้างข้อสอบในพฤติกรรมใดบ้าง พฤติกรรมละกี่ข้อ
5) กำหนดส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ เช่น คะแนน ระยะเวลาการสอบ
ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินการสร้างแบบทดสอบ เป็นการเขียนข้อสอบ ตามเนื้อหา พฤติกรรมและรูปแบบของแบบทดสอบที่กำหนดไว้ โดยจัดทำเป็นแบบทดสอบฉบับร่าง
ขั้นที่ 3 ขั้นตรวจสอบคุณภาพข้อสอบก่อนนำไปใช้ เมื่อสร้างแบบทดสอบแล้วจึงนำแบบทดสอบไปทดลองใช้เพื่อตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งคุณภาพของแบบทดสอบอาจพิจารณาทั้งคุณภาพของแบบทดสอบรายข้อ ได้แก่ ความยาก (difficulty) และอำนาจจำแนก (discrimination) และคุณภาพของแบบทดสอบทั้งฉบับ ได้แก่ ความเที่ยงตรง (validity) และความเชื่อมั่น (reliability)
การตรวจสอบสามารถทำได้ทั้งตรวจสอบเองและให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจ การตรวจเองเป็นการตรวจสอบคุณภาพของข้อคำถาม - คำตอบตามหลักการสร้างข้อสอบที่ดี สำหรับการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา เพื่อดูว่าข้อคำถามแต่ละข้อสัมพันธ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวัดหรือไม่ ครอบคลุมเนื้อหาและเป็นตัวแทนของเนื้อหาที่กำหนดหรือไม่

แบบทดสอบชนิดเลือกตอบ (Multiple Choices)
รูปแบบทั่วๆ ไปของแบบทดสอบชนิดเลือกตอบจะประกอบด้วยตัวคำถาม (Stem) ซึ่งเขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ และตัวคำตอบ (Option) ให้เลือกตอบ ซึ่งตัวคำตอบจะประกอบด้วยคำตอบถูก (Key) และตัวลวงหรือคำตอบผิด (Distractor)
แบบทดสอบชนิดเลือกตอบ ถ้าแบ่งตามเงื่อนไขของการเลือกตอบจะแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. แบบคำตอบถูกคำตอบเดียว (One Correct Answer) แบบนี้มีตัวเลือกที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว นอกนั้นเป็นตัวลวง เช่น
อำเภอสัตหีบอยู่ในจังหวัดอะไร
ก. ชลบุรี ข. ราชบุรี
ค. สระบุรี ง. จันทบุรี
2. แบบคำตอบดีที่สุด (Best Answer) แบบนี้ตัวเลือกจะถูกทุกข้อแต่จะมีเพียงข้อเดียวที่ถูกต้องมากที่สุด คำสั่งในการตอบจะให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว เช่น
ปัจจุบันสัตว์ป่ามีจำนวนน้อยกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วเพราะเหตุใด
ก. มีคนเพิ่มมากขึ้น ข. สัตว์ป่าเกิดน้อยลง
ค. ป่าไม้ถูกทำลายไปมาก ง. คนนิยมกินสัตว์ป่ามากขึ้น
3. แบบเลือกคำตอบผิด (False Answer) รูปแบบนี้ตรงกันข้ามกับแบบแรกคือมีคำตอบผิดเพียงคำตอบเดียว โดยให้ผู้ตอบเลือกตัวเลือกที่ผิด เช่น
คำในข้อใดเขียนผิด
ก. ใฝ่ฝัน ข. บันใด
ค. ปักษ์ใต้ ง. หลงใหล
4. แบบเปรียบเทียบ (Analogy Type) รูปแบบนี้คำถามจะมีลักษณะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งของสองชนิดโดยใช้เกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วกำหนดสิ่งของที่สามมาให้ ผู้ตอบจะต้องหาสิ่งของที่สี่ให้มีความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับสองสิ่งแรก เช่น
มะม่วง : ดก ® ปลา : ?
ก. ชุม ข. ชุก
ค. เยอะ ง. หลาย

การสร้างแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ
การสร้างแบบทดสอบชนิดเลือกตอบโดยยึดหลักการจัดจำแนกระดับพฤติกรรมของ Bloom คือ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า รายละเอียดดังนี้
1. การเขียนข้อคำถาม การเขียนข้อคำถามเป็นการเลือกสถานการณ์ที่เป็นตัวแทนของเนื้อหา มาสร้างเป็นสิ่งเร้าเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบได้สนองตอบและแสดงพฤติกรรมออกมา การวัดพฤติกรรมความรู้แต่ละระดับจะมีลักษณะการใช้ข้อคำถามต่างกัน ดังนี้
1.1 ความรู้ ความจำ เป็นการวัดสมรรถภาพสมองด้านการระลึกออกของความจำ เป็นการวัดสิ่งที่เคยเรียน เคยมีประสบการณ์หรือเคยรู้เห็นมาก่อนแล้ว สามารถถามได้ 3 แบบ คือ
1) ถามความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง
- ถามเกี่ยวกับคำศัพท์และนิยาม ได้แก่ การถามชื่อ คำแปล ความหมาย ตัวอย่าง คำตรงข้ามของคำศัพท์ นิยาม สัญลักษณ์ เช่น
สระลดรูปหมายถึงอะไร
ระยะฟักตัวของโรคคือช่วงเวลาใด
- ถามเกี่ยวกับสูตร กฎ ความจริง และความสำคัญ
ถามสูตร กฎ เป็นการถามถึงความหมายของสูตร หลักการ ทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ที่ได้พิสูจน์หรือยอมรับกันแล้ว
ถามความจริง เป็นการถามเนื้อเรื่อง ใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่าน ขนาด จำนวนสิ่งของ สถานที่เกิดเหตุการณ์ เวลา
ถามความสำคัญของเรื่อง คุณสมบัติเด่น – ด้อย วัตถุประสงค์ของเรื่อง ประโยชน์ – โทษ สิทธิ - หน้าที่
เช่น การหาพื้นที่วงกลมต้องใช้สูตรใด
เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีค้นพบที่ใด
2) ถามความรู้เกี่ยวกับวิธีดำเนินการ เป็นการถามวิธีประพฤติปฏิบัติและวิธีดำเนินการ
- ถามวิธีประพฤติปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมประเพณี เช่น
คำประพันธ์ประเภทสดุดีและยอพระเกียรตินิยมแต่งด้วยร้อยกรองชนิดใด
- ถามลำดับขั้นและแนวโน้ม ลำดับที่ เช่น
ข้อใดเป็นลำดับขั้นของการเจริญเติบโตของผีเสื้อ
- ถามการจำแนกประเภท จัดหมวดหมู่ เช่น
ข้อใดไม่ใช่สัตว์ป่าสงวน
- ถามเกณฑ์ คตินิยมในการวินิจฉัย เกณฑ์ในการตรวจสอบ เช่น
ด่างทับทิมไม่ใช่สารประกอบประเภทด่างเพราะอะไร
- ถามวิธีการหรือวิธีดำเนินงาน ขบวนการที่ใช้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น
ข้อใดเป็นหลักการในการเลือกรับอารยธรรมตะวันตก
3) ถามความรู้เกี่ยวกับความรู้รวบยอด
- ถามหลักวิชาและสรุปสาระสำคัญของเรื่องราว เช่น
หลักเบื้องต้นของการปฐมพยาบาลคือข้อใด
- ถามทฤษฎีและโครงสร้างของหลักวิชา เช่น
สี่เหลี่ยมผืนผ้ากับสี่เหลี่ยมด้านขนานมีลักษณะใดที่เหมือนกัน
1.2 ความเข้าใจ เป็นการวัดความสามารถในการนำความรู้ที่มีอยู่แล้วไปแก้ปัญหาใหม่ที่คล้ายกับของเดิม
1) การแปลความ
- ถามการแปลความหมายของคำ กลุ่มคำ ประโยคหรือข้อความ ภาพ สูตร กฎ กราฟ หรือสัญลักษณ์ ให้ยกตัวอย่างคำหรือข้อความ เช่น
“บ๊ะ” เป็นคำพูดในลักษณะใด
- ถามให้แปลถอดความจากภาษาสำนวนโวหาร โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นภาษาสามัญ หรือจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง เช่น
น้ำนิ่งไหลลึก หมายความว่าอย่างไร
2) การตีความ มีรูปแบบคำถามที่สำคัญ 2 แบบ คือ ให้ตีความหมายของเรื่องและให้ตีความหมายของข้อเท็จจริง
- ถามให้นักเรียนสรุปหรือย่อความหมายของเรื่องราวทั้งหมดใหม่ให้สั้นลงแต่ยังคงความหมายเดิม เช่น
คำประพันธ์ข้างต้นให้คติอะไรแก่เรา
- ถามให้ตีความหมายของข้อเท็จจริงซึ่งจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์และเชื่อถือได้ เช่น
ผลการทดลองนี้มีลักษณะเช่นไร
3) การขยายความ เป็นความสามารถในการขยายความคิดให้ลึก กว้างออกไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล การเขียนคำถามประเภทนี้จะต้องมีข้อมูลหรือแนวโน้มเพียงพอที่จะนำมาขยายความได้อย่างสมเหตุสมผล มีแนวการถาม 3 แบบ คือ ถามให้ขยายไปข้างหน้า ถามให้ขยายย้อนไปข้างหลัง และถามให้ขยายในระหว่าง เช่น
เมื่อเกิดน้ำท่วมในเมืองนานๆ จะเกิดโรคชนิดใดตามมา
ถ้าแรงโน้มถ่วงของโลกลดลง จะเกิดอะไรขึ้น
1.3 การนำไปใช้ เป็นความสามารถในการนำเอาความรู้และความเข้าใจที่มีไปแก้ปัญหาแปลกใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว
- ถามความสอดคล้องระหว่างหลักวิชากับการปฏิบัติ เช่น
ข้อใดเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์
- ถามขอบเขตของการใช้หลักวิชาและการปฏิบัติ เช่น
วัตถุชนิดใดควรหาปริมาตรโดยการแทนที่น้ำ
- ถามให้อธิบายหลักวิชา เช่น
เหตุผลในข้อใดที่ทำให้ปริมาณปลาในอ่าวไทยลดน้อยลง
- ถามให้แก้ปัญหา เช่น
ถ้าไม่มีอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เราจะรับประทานอะไรทดแทนเพื่อให้ได้คุณค่าอาหารเหมือนกัน
- ถามเหตุผลของการปฏิบัติ เช่น
ชาวสวนนิยมขยายพันธุ์พุทราด้วยวิธีใด เพราะเหตุใด
1.4 การวิเคราะห์ เป็นความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกเป็นส่วนย่อยตามหลักและกฎเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่
1) การวิเคราะห์ความสำคัญ เป็นความสามารถในการค้นหาส่วนประกอบว่าส่วนใดสำคัญ ส่วนใดเป็นสาเหตุหรือผลลัพธ์
- ถามให้ค้นหาชนิด เพื่อดูว่าสิ่งนั้น เรื่องนั้นจัดอยู่ในประเภทใด พวกใด ในแง่มุมใหม่ เช่น
คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวประเภทใด
- ถามให้วิเคราะห์สิ่งสำคัญ จุดเด่น จุดด้อย เช่น
จุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร
- ถามให้วิเคราะห์เลศนัย เจตนา ความคิดที่แฝงอยู่ เช่น
อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
2) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการค้นหาความสัมพันธ์ เกี่ยวข้อง ระหว่างคุณลักษณะของเรื่องราว เหตุการณ์
- ถามให้หาความสัมพันธ์แบบตามกัน เช่น
ข้อความนี้สนับสนุนอะไร
- ถามให้หาความสัมพันธ์แบบกลับกัน เช่น
ข้อใดขัดแย้งกับกฎเกณฑ์นี้
- ถามให้หาความไม่สัมพันธ์กัน เช่น
สิ่งใดไม่สอดคล้องกับตัวอย่างข้างต้น
- ถามให้หาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับส่วนย่อย เช่น
โคลงบทสุดท้ายเกี่ยวข้องกับบทแรกอย่างไร
- ถามให้หาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับเรื่องทั้งหมด เช่น
สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งใดมากที่สุด
3) การวิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการค้นหาโครงสร้าง ระบบของเรื่องราว เหตุการณ์
- ถามให้หาโครงสร้างของเรื่อง เช่น
ข้อใดไม่ใช่คุณลักษณะที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตบ
- ถามให้หาหลักการของเรื่องราว เหตุการณ์ เช่น
ข้อใดเป็นหลักในการซื้อยา
1.5 การสังเคราะห์ เป็นความสามารถในการรวมสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นสิ่งใหม่ที่คุณลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม
1) การสังเคราะห์ข้อความ เป็นความสามารถในการนำเอาความรู้และประสบการณ์มาผสมกันเพื่อให้เกิดเป็นผลผลิตใหม่ เช่น จากข้อความข้างต้นท่านเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ เพราะเหตุใด
2) การสังเคราะห์แผนงาน เป็นความสามารถในการสร้างแผนงาน เค้าโครงของโครงการ เช่น
ในการทดลองเรื่องความหนาแน่นของน้ำ สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือข้อใด
3) การสังเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการนำเอาความสำคัญและหลักการมาผสมให้เป็นเรื่องเดียวกัน จนทำให้เกิดสิ่งสำเร็จชิ้นใหม่ เช่น
สูตรการหาพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยมพัฒนามาจากสูตรการหาพื้นที่ของรูปใด
1.6 การประเมินค่า เป็นความสามารถในการตีราคาสิ่งต่างๆ โดยการสรุปอย่างมีหลักเกณฑ์ว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า ดี เลว เหมาะสมอย่างไร
1) ประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายใน เป็นการใช้เนื้อหาของเรื่องราวนั้นๆ เป็นเกณฑ์ - ถามให้ประเมินความถูกต้อง เที่ยงตรงของเรื่อง
- ถามให้ประเมินความเป็นเอกพันธ์ของเรื่อง
- ถามให้ประเมินความเหมาะสม ประสิทธิภาพของวิธีการ
- ถามให้ประเมินความสมเหตุสมผลของผลลัพธ์
2) ประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายนอก เป็นการใช้ค่านิยม คุณธรรม หรือเกณฑ์ที่สังคมยอมรับมาวินิจฉัย
- ถามให้ประเมินสรุปตามเกณฑ์ที่กำหนดให้
- ถามให้ประเมินความเด่นด้อยระหว่างของสองสิ่ง
- ถามให้ประเมินความเด่นด้อยกับสิ่งที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน
เช่น วรรณคดีเรื่องใดใกล้เคียงกับชีวิตจริงของมนุษย์มากที่สุด
ในสายตาของคนทั่วไปคิดว่านางวันทองเป็นคนเช่นไร
2. การเขียนตัวเลือก ตัวเลือกที่ดีต้องมีความเป็นเอกพันธ์ คือ มีคุณค่าเท่ากัน ไม่แตกต่างจากตัวเลือกอื่นอย่างเด่นชัด สามารถลวงผู้ที่ไม่มีความรู้จริงและป้องกันการเดาได้ การเขียนตัวเลือกให้มีความเป็นเอกพันธ์มีวิธีการดังนี้
2.1 ตัวเลือกทุกตัวเป็นประเภทเดียวกัน พวกเดียวกัน
ภาคกลางของประเทศไทยมีลักษณะเช่นไร (ไม่ดี)
ก. เป็นที่ราบ ® พื้นที่
ข. มีฝนตกชุก ® ฝน
ค. ปลูกข้าวมาก ® อาชีพ
ง. อากาศอบอุ่น ® อุณหภูมิ
2.2 ตัวเลือกทุกตัวมีโครงสร้างของข้อความและถ้อยคำเป็นแบบเดียวกัน
สาเหตุที่ชาวชนบทอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ คือข้อใด (ไม่ดี)
ก. ความจน
ข. ความแห้งแล้ง
ค. ต้องการความปลอดภัย
ง. ต้องการความสะดวกสบาย
2.3 ตัวเลือกทุกตัวมีความหมายและนัยไปในทิศทางเดียวกัน
สาเหตุที่ชาวชนบทอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ คือข้อใด (ไม่ดี)
ก. ความจน ® ลบ
ข. ความแห้งแล้ง ® ลบ
ค. ความปลอดภัย ® บวก
ง. ความสะดวกสบาย ® บวก

คุณภาพของแบบทดสอบ

แบบทดสอบที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ความเชื่อมั่น (reliability) เป็นความคงเส้นคงวาของของคะแนนที่ได้จากการทดสอบโดยใช้แบบทดสอบนั้นหลายๆ ครั้งกับผู้เข้าสอบกลุ่มเดียวกัน ความเชื่อมั่นเป็นคุณภาพของแบบทดสอบทั้งฉบับ มีค่าตั้งแต่ 0 – 1 โดยมีแนวทางในการพิจารณา ดังนี้
ถ้าความเชื่อมั่นน้อยกว่า 0.70 หมายความว่าความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ (ควรปรับปรุง)
ถ้าความเชื่อมั่นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.70 หมายความว่าความน่าเชื่อถือยอมรับได้ (สังคม / มนุษยศาสตร์)
ถ้าความเชื่อมั่นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.80 หมายความว่าความน่าเชื่อถือยอมรับได้ (วิทยาศาสตร์ / คณิตศาสตร์)
ถ้าความเชื่อมั่นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.90 หมายความว่าความน่าเชื่อถือได้มาตรฐานระดับสากล
2. ความเที่ยงตรง (validity) เป็นความสอดคล้องของแบบทดสอบกับวัตถุประสงค์ในการวัด คือวัดได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะวัด ความเที่ยงตรงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (content validity) หมายถึงคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สามารถวัดเนื้อหาวิชาได้ตรงตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ความเที่ยงตรงตามเกณฑ์ (criterion-related validity) หมายถึงคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สามารถนำคะแนนจากการทดสอบนั้นมาใช้ในการพยากรณ์ผลการเรียนได้
ความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง (construct validity) หมายถึงคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สามารถวัดสมรรถภาพของสมองด้านต่างๆ ได้
3. ความเป็นปรนัย (objectivity) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบ 3 ประการ คือ
- อ่านแล้วเข้าใจตรงกัน
- การตรวจให้คะแนนตรงกัน
- การแปลความหมายของคะแนนตรงกัน
4. ความยาก (difficulty) หมายถึงสัดส่วนของจำนวนผู้ที่ทำข้อสอบถูกกับจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด ความยากมีค่าตั้งแต่ 0 – 1 ใช้สัญลักษณ์ p แทนความยาก โดยมีความหมายดังนี้
ถ้า p <> 0.80 ข้อสอบง่ายมาก
5. อำนาจจำแนก (discrimination) เป็นประสิทธิภาพของข้อสอบในการจำแนกเด็กเก่งออกจาก เด็กอ่อน อำนาจจำแนกมีค่าตั้งแต่ -1 ถึง +1 ใช้สัญลักษณ์ r แทนอำนาจจำแนก โดยมีความหมายดังนี้
ถ้า r <> 0.60 ข้อสอบมีอำนาจจำแนกดีมาก

คุณสมบัติที่ดีของตัวเลือก
1. ค่าความยากง่ายมีค่าอยู่ระหว่าง 0.20 – 0.80
2. ค่าอำนาจจำแนกมีค่าเป็นบวก ตั้งแต่ 0.20 ขึ้นไป

คุณสมบัติที่ดีของตัวลวง
1. ต้องมีผู้เลือกตอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และควรเลือกตอบน้อยกว่าตัวเลือก
2. ค่าอำนาจจำแนกต้องมีค่าเป็นลบ

สรุปแนวทางการตรวจข้อสอบและแก้ไขปรับปรุงข้อสอบ
1. ความสอดคล้อง (Conformity) : Item Spec. หลักสูตร การเรียนการสอน
2. ความชัดเจน (Communicability) : สถานการณ์ คำถาม ตัวเลือก
3. ความเหมาะสม (Suitability) : ความยากง่ายของสถานการณ์ ความยากง่ายของคำถาม ทักษะ / กระบวนการคิด ความเป็นกลาง / ไม่ลำเอียง
4. ความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy) : เฉลยถูกต้อง คำตอบถูกต้องเพียงข้อเดียว





วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3













คณะผู้ประเมิน นำโดย ดร.ภาสกร ภูแต้มนิล (รอง ผอ.สพป.กส.3) ศน.ประชัยสิทธิ์, ศน.ไชยสิทธิ์ และศน.พรเพ็ญ




ในระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2554 ณ โรงเรียนบ้านกลาง, โคกกลางราษฎร์พิทักษ์. ศรีกุดหว้าเรืองเวทย์





แต่ละโรงเรียนก็มีความหลากหลายและความพร้อมที่รับการประเมินแตกต่างกัน คณะกรรมการได้ให้ข้อเสนอแนะเพือ่ปรับปรุงพัฒนาต่อไป ให้พร้อมที่จะรับการประเมินจาก สมศ.รอบสาม ที่สุด







และ ศน.ประจำกลุ่มสถานศึกษาที่ 4 ได้ไปนิเทศ โรงเรียนบ้านกกตาล เพื่อเป็นกำลังใจในการรับการประเมินจากคณะกรรมการฯ






ขอขอบคุณโรงเรียนทุกโรงที่ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมการ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี...

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาศึกษานิเทศก์แนวใหม่เพื่อเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน







วันที่ 1-2 พฤษภาคม 2554 ณ อิมแพคเมืองทองธานี นนทบุรี





โดยมีวัตภุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพศึกษานิเทศก์ให้สามารถนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน





---ศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน...

การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research)





Classroom Action Research หรือ CAR มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน หรือ 4 สถานการณ์ ดังนี้





1. CAR 1 การวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล





2. CAR 2 การประเมินเพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้และการสอนของตนเอง





3. CAR 3 กรณีศึกษา





4. CAR 4 การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้





(สุวิมล ว่องวาณิช. 2550)





ซึ่ง สพป.กส.3 โดยกลุ่มนิเทศฯ จะดำเนินโครงการการพัฒนาครูผู้สอน ป.6, ม.3 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้การวิจับในชั้นเรียน .... ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 นี้...