วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม : Behavioral Objectives


วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม : Behavioral Objectives วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม หมายถึง วัตถุประสงค์ของการสอนที่กำหนดเป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจนว่า นักเรียนต้องแสดงพฤติกรรมอะไรได้บ้าง จึงจะถือว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น สอนการบวกเลขระดับประถมศึกษา ครูอาจกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมว่า เมื่อจบบทเรียนแล้วนักเรียนต้องทำแบบฝึกหัดการบวกเลขได้ถูกต้อง 5 ข้อ เป็นต้น วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สมบูรณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. พฤติกรรมที่ชัดเจนหรือพฤติกรรมที่คาดหวังว่านักเรียนต้องทำได้ เมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ (พฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจน) ส่วนใหญ่มักกำหนดเป็นคำกริยา 2. สถานการณ์หรือเงื่อนไขในการแสดงพฤติกรรม หมายถึงพฤติกรรมที่กำหนดไว้นั้น จะแสดงออกในสถานการณ์หรือเงื่อนไขใด 3. เกณฑ์ในการตัดสินหรือยอมรับว่าพฤติกรรมนั้นว่าถึงระดับเกิดการเรียนรู้แล้ว ตัวอย่างของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เช่น

- นักเรียนแต่งโคลงสี่สุภาพจากหัวข้อที่กำหนดให้ได้ถูกต้องในเวลา 10 นาที

แต่ง คือพฤติกรรมที่สังเกตได้ชัดเจน - หัวข้อที่กำหนด คือสถานการณ์ หรือเงื่อนไขที่กำหนดให้แสดงพฤติกรรม และ 10 นาที คือเกณฑ์การตัดสินพฤติกรรมว่าเกิดการเรียนรู้แล้ว

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรียน Online กับ www.utqonline.com


ทางเว็ป utqonline.com หน้าเว็ปแจ้งมาว่า ...
ดังนั้นเราควรรีบเข้าไปเรียนใช่ไหมคะ
ตอนนี้ ศน.พรเพ็ญ ก็รอใบงานของหน่วยที่ 1 (หลักสูตร Coaching ค่ะ)

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

OD







OD

การศึกษาดูงาน OD ของบุคลากร สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3


บุคลากร สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ศึกษาดูงานที่สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 และจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2553

ร่วมกิจกรรม OD สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3



บุคลากร -เจ้าหน้าที่ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ร่วมศึกษาดูงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1ฒ จังหวัดกาญขนบุรี ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2553

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

การวิจัยในชั้นเรียนแบบหน้าเดียว


การวิจัยในชั้นเรียน(Classroom Action Research :CAR)
รวบรวม/สรุป โดย ศน.พรเพ็ญ ฤทธิลัน
Kemmis, S.กล่าวว่า Kurt Lewin เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า"action reseach" โดยมีขอบเขตอยู่ที่ การแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ครูสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และให้สามารถศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ (๕) ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มาตรา ๖๗ รัฐจ้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้ปฏิบัติการวิจัย เรียกว่า ครูนักวิจัย(teacher as Research) ซึ่งจะต้องมีพันธกิจ (Mission) ที่จะต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน ถ้าหากครูต้องเขียนรายงานการวิจัยทั้ง ๕ บท จะต้องใช้เวลายาวนานหลายคนจึงไม่สามารถเขียนรายงานการวิจัยแบบยาวๆ ได้ จึงนำเสนอวิธีการเขียนรายงานการวิจัยแบบง่ายๆ สั้นๆ ซึ่งสามารถทำวิจัยได้ทั้งครู และนักเรียน ตามแนวของกรมวิชาการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จุดประสงค์ทั่วไปของการทำวิจัย
เพื่อแก้ปัญหานักเรียนในชั้นที่ตนเองสอน
สอนไปแล้วมีปัญหา หรือนำปัญหาจากผลการสอนปีที่ผ่านมาหรือคิดหาวิธีการสอนใหม่ๆ มาช่วยให้การสอนสนุกสนานยิ่งขึ้นแล้วทำการวิจัยโดยไม่จำเป็นต้องเขียนเค้าโครงการวิจัยก็ได้ และไม่จำเป็นต้องบันทึกขออนุญาตผู้บริหารหรือเสนอหัวหน้าฝ่ายต่างๆให้ความเห็นชอบ
เขียนรายงานการวิจัยสั้นๆ หน้าเดียวหรือ ๒ - ๑๐ หน้า
บันทึกรายงานเสนอผู้บริหารสถานศึกษาทราบ
ถ่ายเอกสารเผยแพร่ให้ครูในโรงเรียน หรือโรงเรียนอื่นๆ เพื่อสะสมเป็นผลงานของเรา
เพื่อประกอบการเสนอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ ๓
แก้ปัญหานักเรียนในชั้นที่ตนเองสอน
เมื่อแก้ปัญหาแล้ว เขียนรายงาน สรุป เสนอประกอบการเลื่อนตำแหน่ง
รายงานการวิจัยควรมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ โดยทั่วไปจะมี ๕ บท รูปแบบของการวิจัยที่เหมาะในการนำไปวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยเชิงสำรวจ เช่น สำรวจว่านักเรียนแต่งกายไม่เรียนร้อยนั้นมีกี่คน ใครบ้างสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ สำรวจนักเรียนว่าใครเคยสูบบุหรี่บ้าง
การวิจัยหาความสัมพันธ์ เช่นนักเรียนกลุ่มที่เรียนเก่งกับกลุ่มเรียนอ่อนมีความสัมพันธ์ กับอาชีพผู้ปกครองหรือไม่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ มีความสัมพันธ์กับภาษาไทย หรือไม่
การวิจัยเปรียบเทียบ เช่น การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์วิชาสังคมศึกษาเรื่องการ เลือกตั้งระหว่างการสอนแบบแสดงบทบาท สมมติกับการสอนแบบบรรยาย
การวิจัยทดลองเชิงเหตุผล จะแบ่งกลุ่มทดลองเป็นกลุ่มๆ แล้วเปรียบเทียบว่าใคร ดีกว่ากัน เช่น ทดลองวิธีสอนสองวิธี โดยใช้นักเรียนห้อง ก. และห้อง ข. มีจุดอ่อนคือนักเรียน อาจแอบดูกัน หรือสอบถามกันนอกห้องมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งได้ ผลดี แต่อีกลุ่มยังอ่อนเหมือนเดิม
การวิจัยเชิงทดลองและพัฒนา วิธีนี้ใช้นักเรียนกลุ่มเดียวไม่ต้องเปรียบเทียบวิธีสอนแบบดั้งเดิมกับวิธิสอนใหม่ แต่ นำวิธีสอนแบบใหม่มาใช้ได้เลย หรือพัฒนาสื่ออุปกรณ์มาใช้สอนหรือจัดทำแผนการสอนให้ดีแล้วนำไปสอนนักเรียนจะสอน ๑ ห้อง ๕ ห้อง หรือ ๑๐ ห้องก็ได้
สถิติที่ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้ T -Test หรือ F - test เราใช้เพียงค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานก็พอแล้ว โดยอาจจะมีการทดสอบก่อนเรียน - หลังเรียน ซึ่งกรมวิชาการ สรุปว่า การวิจัยในชั้นเรียนที่น่าทำมากที่สุด คือ รูปแบบที่ ๕ เป็นการวิจัยเชิงพัฒนา ใช้กับนักเรียนกลุ่มเดียว เหมาะกับการเรียนการสอนมากที่สุด วัตถุประสงค์ของการวิจัย
จะมีข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ แต่ต้องอยู่ในขอบข่ายของประเด็นปัญหา การวิจัยที่กำหนดไว้เท่านั้น
ควรกำหนดเป็นข้อๆ เช่น สำรวจเปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์ หาผลกระทบหาความสอดคล้อง เช่น
เพื่อศึกษา เจตคติเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการสนับสนุนของผู้ปกครองของนักเรียนที่ร่วมทำและไม่ร่วมทำโครงงานวิทยาศาสตร์
เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารและครู เกี่ยวกับการนิเทศภายในจำแนกตามเพศวุฒิการศึกษา และประสบการณ์สอน
เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพของผู้ปกครอง กับความสามารถทางคณิตศาสตร์
เพื่อศึกษาอิทธิพลของ ๑๐ องค์ประกอบ ที่มีผลต่อความพึงพอใจของหัวหน้าคณะและหัวหน้าแผนกวิชาช่างอุตสาหกรรมการวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เรื่อง คำราชาศัพท์ โดยการแสดงลิเกกับการสอนแบบปกติ วัตถุประสงค์ :
เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ระหว่างกลุ่มที่เรียนโดยการแสดงลิเกกับกลุ่มที่เรียนแบบปกติ
เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนรู้ ระหว่างการเรียนภาษาไทยโดยการแสดงลิเกกับกลุ่มที่เรียนแบบปกติ นวัตกรรม (Innovation)
หมายถึง สิ่งประดิษฐ์หรือวิธีการใหม่ๆ หรือปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสม โดยการให้เหมาะสม โดยการทดลองหรือพัฒนาจนเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าจะมีผลดี ในทางปฏิบัติสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเภทนวัตกรรม
สื่อสิ่งประดิษฐ์ เช่น กล้องโทรทัศน์ หนังสือ คู่มือครู แบบเรียนโปรแกรมวิดิทัศน์ แผนการสอนชุดการสอน ศูนย์การเรียน สื่อประสม คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เกม เพลง แบบฝึกต่างๆ เอกสารประกอบการสอน ใบความรู้ ใบงาน สไลด์ แผ่นโปร่งใส ข่าวหนังสือพิมพ์
วิธีการหรือเทคนิค เช่น วิธีทดลอง วิธีไตรสิกขา วิธีอริยสัจ ๔ วิธีสอนแบบโครงงานวิธีสอนแบบสหกิจวิธีสอนแบบโยนิโสมนสิการ วิธีสอนแบบStoryline วิธีสอนแบบสากัจฉา วิธีสอนแบบดาว ๕ แฉก CIPPA Model, Mind Mapping วิธีสอนแบบมุ่งประสบการณ์ วิธีสอนแบบอภิปราย วิธีสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ การแสดงละครบทบาทสมมติ สถานการณ์จำลอง ทัศนศึกษา สอนซ่อมเสริม การสอนเป็นทีม การสอนตามสถาพจริง การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การเรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้จากชุมชนและธรรมชาติ วิธีสอนแบบซินดิเคท วิธีสอนแบบลีลาศึกษา วิธีสอนแบบลักศาสตร์ วิธีสอนแบบเบญจขันธ์ วิธีสอนแบบวรรณี วิธีสอนแบบเรียนเพื่อรอบรู้ (Mastery Learning) วิธีสอนแบบอนุมาน วิธีสอนแบบวิพากษ์วิจารณ์ วิธีสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้(4 MAT System) เป็นต้น ขั้นตอนการวิจัย
ในการทำวิจัยอย่างเป็นระบบผู้เขียนแบ่งขั้นตอนการวิจัยเป็น ๖ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ บอกปัญหาของนักเรียน
ขั้นที่ ๒ บอกวิธีแก้ปัญหา
ขั้นที่ ๓ จัดทำสื่อ/อุปกรณ์/แบบฝึก/นวัตกรรม
ขั้นที่ ๔ ทดลองสอน/ลงมือแก้ปัญหา
ขั้นที่ ๕ วัดผล วิเคราะห์ สรุป
ขั้นที่ ๖ เขียนรายงานสั้นๆ หน้าเดียว
ขั้นที่ ๑ บอกปัญหาของนักเรียน แบ่งได้ ๓ พวก คือ
ปัญหาด้านพฤติกรรม / ความประพฤติ เช่น การแต่งกายไม่เรียบร้อย ไว้ผมยาว พูดเสียงดัง หยาบคายก้าวร้าว สูบบุหรี่ ไม่มีระเบียบวินัย พูดสอดแทรก ชอบรังแกเพื่อน ฯลฯ
ปัญหาด้านวิชาการ เช่น สอบได้คะแนนน้อย อ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนหนังสือไม่สวย พูดไม่ชัดขาดทักษะการทำงาน แต่งประโยคไม่เป็น สรุปองค์ความรู้ไม่ได้ ฯลฯ
ปัญหาด้านจิตพิสัย เช่น ขาดความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ เซื่องซึม หงอยเหงา ความเมตตากรุณาความเสียสละ ความกตัญญูกตเวที เจตคติต่อวิชาที่เรียน การกำหนดหัวข้อวิจัย
อย่ากำหนดหัวข้อที่ยาก หรือเป็นหัวข้อที่มีความเพ้อฝันมากเกินไป มันจะเกินขีดความสามารถของนักวิจัย
เป็นเรื่องที่ตนเองสนใจ และควรอยู่ในสาขาของตนเอง หรือวิชาที่ตนเองสอน
หัวข้อวิจัยควรทันต่อเหตุการณ์ ทันสมัย มีคุณค่า เป็นที่สนใจของหน่วยงานต่างๆ มีประโยชน์ต่อบุคคลและสถาบัน และเสริมความรู้ใหม่ๆ
ขั้นที่ ๒ บอกวิธีแก้ปัญหา
วิธีแก้ปัญหาคือ การใช้นวัตกรรมประเภทสื่อสิ่งประดิษฐ์ หรือวิธีการสอนแบบต่างๆ ที่เหมาะสมต่อปัญหานั้นๆ โดยครูตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมเอง หรือศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น
ปัญหาการสอนในปีที่ผ่านมา นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ อาจแก้โดยใช้ศูนย์การเรียนแบบเรียนโปรแกรม การเรียนแบบร่วมมือ นิทาน เพลง เกม การทดลอง แบบฝึกทักษะ ฯลฯ
ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการสอนในชั่วโมงที่ผ่านมา นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำแก้โดยใช้วิธีการสอนซ่อมเสริม เช่น การสอนซ่อมเสริมโดยครู เพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง ศึกษาด้วยตนเองจากหนังสืออ่านเพิ่มเติมแบบเรียนโปรแกรม วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น
ขั้นที่ ๓ จัดทำสื่อ/อุปกรณ์/ แบบฝึก/นวัตกรรม
ในการอบรมการวิจัยทั่วๆไป มักจะใช้คำว่า สร้างนวัตกรรม ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าเป็นสื่อที่ยิ่งใหญ่ยากแก่การจัดทำ ผู้เขียนจึงใช้คำว่า จัดทำสื่อ อุปกรณ์ แบบฝึก หรือนวัตกรรมซึ่งทำให้ท่านเข้าใจดีขึ้นและรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ง่ายเพราะคุณครูได้จัดทำขึ้นมาแล้วในการสอนแต่ละวิชา ในการวิจัยในชั้นเรียน สื่อที่ท่านจัดทำขึ้นไม่จำเป็นต้องไปหาคุณภาพของสื่อ เช่น หา ประสิทธิภาพของศูนย์การเรียนตามเกณฑ์ ๘๐ /๘๐ หาคุณภาพของแบบสอบถาม ประเมิน การใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติม ประเมินคุณภาพของแผนการสอน หาค่า IOA,ค่า IOC, ค่า CV,หาค่าความยากง่ายของแบบทดสอบ เป็นต้น แต่ท่านสามารถนำแบบฝึกหรือข้อสอบที่จัดทำ ขึ้นไปใช้ ได้เลย มิฉะนั้นท่านจะกังวลใจและรู้สึกว่าการวิจัยเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ไม่อยากทำ
ขั้นที่ ๔ ทดลองสอน /ลงมือแก้ปัญหา
การทดลองวิจัย จะทำตามวิธีดำเนินการซึ่งจะใช้เวลาในการวิจัย ๒ ชั่วโมง หรือ ๑ สัปดาห์ หรือ ๑ เดือนก็ได้ แต่ไม่ควรนานเกิน ๒ เดือน เพราะการวิจัยในชั้นเรียนมักจะเป็น เรื่องสั้นๆ ปัญหาเล็กๆ เช่น การแก้ปัญหาทักษะกระบวนการสังเกตโดยใช้แบบฝึกการสังเกต ซึ่งอาจมี ๒ - ๓ แบบฝึกหัด สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายใน๑ ชั่วโมง หรือ ๒- ๓ ชั่วโมง ก็ได้
ขั้นที่ ๕ วัดผล วิเคราะห์ สรุป
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลมีหลายอย่าง เช่น แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบ ประเมิน แบบซักถามแบบวัดเจตคติ แบบทดสอบ แบบตรวจผลงาน"ครูผู้สอนไม่ต้องกังวลเรื่องจำนวนหน้า หรือรูปแบบการเขียนรายงาน เพราะสิ่งที่เรา กำลังพูดกันคือ รูปแบบการเขียนที่ไม่เป็นทางการ จึงคววรเขียนแบบสั้นๆ หน้าเดียว หรือกี่หน้าก็ได้" การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติค่าที (t-test) แบบ dependent group ในกรณีที่ใช้กลุ่มตัวอย่างเดียว การจัดอันดับคุณภาพเป็นต้น การสรุปผล ให้สรุปตามหัวข้อของวัตถุประสงค์ในการวิจัย อาจมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ได้
ขั้นที่ ๖ เขียนรายงานสั้นๆ หน้าเดียว
การเขียนรายงานให้สมบูรณ์ทั้ง ๕ บท อาจจะต้องใช้เวลานาน ครูผู้สอนไม่ต้องกังวล เรื่องจำนวนหน้าหรือรูปแบบการเขียนรายงาน เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดกันคือรูปแบบการเขียน ที่ไม่เป็นทางการจึงควรเขียนแบบสั้นๆ หน้าเดียว หรือกี่หน้าก็ได้ ขอให้เขียนอ่านแล้วรู้เรื่อง เข้าใจว่าครูกำลังทำอะไร ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถทำการวิจัย ปีหนึ่งได้หลายเรื่อง ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับนักเรียนและตัวครู เมื่อทำการวิจัยหลายเรื่องจนเกิดความชำนาญแล้วก็สามารถทำเป็นแบบสมบูรณ์ที่มีหลายบทได้



วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาศึกษานิเทศก์แนวใหม่


การพัฒนาศึกษานิเทศก์แนวใหม่ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 เข้าประชุมพร้อมกันที่โรงแรมเนวาดา แกรนด์ จ.อุบลราชธานี

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อประกันคุณภาพผู้เรียน (National Test) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ..


โครงการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อประกันคุณภาพผู้เรียน (National Test) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2552 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3

สรุปผล
สรุปผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ภาคปรนัย มีการสอบ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีผลดังนี้
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 41.55 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 42.94 และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 34.20
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2551 กับปีการศึกษา 2552 โรงเรียนที่จัดสอบจำนวน 195 โรงเรียน พบว่า
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 37 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 18.97 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 28 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 14.36
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 83 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 42.56 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 62 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 31.79
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 57 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 29.23 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 40 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 20.51

ภาคปฏิบัติ มีการสอบ 3 สาระ คือ การเขียน การอ่านออกเสียง และการคิดคำนวณ มีผลดังนี้
การเขียน มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 65.30 การอ่านออกเสียง มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 77.97 และการคิดคำนวณ มีคะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 53.76
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2551 กับปีการศึกษา 2552 โรงเรียนที่จัดสอบจำนวน 195 โรงเรียน พบว่า
การเขียน ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 110 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 56.41 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 97 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 49.74
การอ่านออกเสียง ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 95 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 48.72 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้น เกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 74 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 37.95
การคิดคำนวณ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 67 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 34.36 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้น เกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 59 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 30.26

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 36.73 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 31.30 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 29.17 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 32.37 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 35.98 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 61.26 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 39.21 และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 49.28
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2551 กับปีการศึกษา 2552 โรงเรียนที่จัดสอบจำนวน 198 โรงเรียน พบว่า
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 58 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 29.74 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 30 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 15.38
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 40 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 20.51 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 32 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 16.41
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 17 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 8.72 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 12 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 6.15


การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 31.59 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 37.17 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 18.30 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 22.98 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 26.24 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 53.92 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 30.85 และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 28.61
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2551 กับปีการศึกษา 2552 โรงเรียนที่จัดสอบจำนวน 77 โรงเรียน พบว่า
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 1 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 1.30
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 19 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 24.68 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 8 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 10.39
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 3 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 3.90 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 2 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 2.60
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 3 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 3.90 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 2 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 2.60
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 3 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 3.90 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 2 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 2.60

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 39.68 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 31.97 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 19.09 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 23.79 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 26.55 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 43.14 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 34.59 และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 29.94
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2551 กับปีการศึกษา 2552 โรงเรียนที่จัดสอบจำนวน 20 โรงเรียน พบว่า
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงกว่า ปีการศึกษา 2551 จำนวน 10 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 50.00 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 5 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 25.00
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ในปีการศึกษา 2552 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ สูงกว่าปีการศึกษา 2551 จำนวน 11 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 55.00 และโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 จำนวน 1 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 5.00
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ทุกโรงเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละลดลง

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาระบบนิเทศแนวใหม่ ของศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1-3

การพัฒนาระบบนิเทศแนวใหม่ ของศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1-3 ณ โรงแรมเพชรรัตน์
ระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2553