แบบทดสอบ (Test) หมายถึง ชุดของคำถาม (item) ที่มุ่งวัดความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถภาพทางสมองด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบระดับความรู้ความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย อาจเป็นความรู้ที่มีอยู่แต่เดิม ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม หรือเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ซึ่งแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการเรียนรู้นี้เรียกว่าแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Achievement Test)
ขั้นตอนการสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีขั้นตอนการสร้างแบ่งได้ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผนการสร้างแบบทดสอบ ประกอบด้วย
1) กำหนดจุดมุ่งหมายของการทดสอบ สิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้สร้างข้อสอบจะต้องรู้ คือ อะไรคือจุดมุ่งหมายของการทดสอบ ทำไมจึงต้องมีการสอบ และจะนำผลการสอบไปใช้อย่างไร
2) กำหนดเนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการวัด เนื้อหาที่ต้องการวัดได้จากจุดมุ่งหมายของการทดสอบ ผู้สร้างข้อสอบจะต้องวิเคราะห์จำแนกเนื้อหาที่ต้องการวัดให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด สำหรับพฤติกรรมที่ต้องการวัดนั้นอาจจำแนกตามทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่ง เช่น ทฤษฎีของบลูม (Benjamin S. Bloom) ซึ่งจำแนกพฤติกรรมเป็น 6 ระดับ คือ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า เป็นต้น
3) กำหนดลักษณะหรือรูปแบบของแบบทดสอบ อาจเลือกแบบทดสอบประเภทความเรียงหรือแบบทดสอบอัตนัย (Subjective Test) แบบตอบสั้นและเลือกตอบหรือแบบทดสอบปรนัย (Objective Test) ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการทดสอบเช่นกัน
4) การจัดทำตารางวิเคราะห์เนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการวัด เป็นการวางแผนผังการสร้างข้อสอบ ทำให้ผู้สร้างข้อสอบรู้ว่าในแต่ละเนื้อหาจะต้องสร้างข้อสอบในพฤติกรรมใดบ้าง พฤติกรรมละกี่ข้อ
5) กำหนดส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ เช่น คะแนน ระยะเวลาการสอบ
ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินการสร้างแบบทดสอบ เป็นการเขียนข้อสอบ ตามเนื้อหา พฤติกรรมและรูปแบบของแบบทดสอบที่กำหนดไว้ โดยจัดทำเป็นแบบทดสอบฉบับร่าง
ขั้นที่ 3 ขั้นตรวจสอบคุณภาพข้อสอบก่อนนำไปใช้ เมื่อสร้างแบบทดสอบแล้วจึงนำแบบทดสอบไปทดลองใช้เพื่อตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งคุณภาพของแบบทดสอบอาจพิจารณาทั้งคุณภาพของแบบทดสอบรายข้อ ได้แก่ ความยาก (difficulty) และอำนาจจำแนก (discrimination) และคุณภาพของแบบทดสอบทั้งฉบับ ได้แก่ ความเที่ยงตรง (validity) และความเชื่อมั่น (reliability)
การตรวจสอบสามารถทำได้ทั้งตรวจสอบเองและให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจ การตรวจเองเป็นการตรวจสอบคุณภาพของข้อคำถาม - คำตอบตามหลักการสร้างข้อสอบที่ดี สำหรับการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา เพื่อดูว่าข้อคำถามแต่ละข้อสัมพันธ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวัดหรือไม่ ครอบคลุมเนื้อหาและเป็นตัวแทนของเนื้อหาที่กำหนดหรือไม่
แบบทดสอบชนิดเลือกตอบ (Multiple Choices)
รูปแบบทั่วๆ ไปของแบบทดสอบชนิดเลือกตอบจะประกอบด้วยตัวคำถาม (Stem) ซึ่งเขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ และตัวคำตอบ (Option) ให้เลือกตอบ ซึ่งตัวคำตอบจะประกอบด้วยคำตอบถูก (Key) และตัวลวงหรือคำตอบผิด (Distractor)
แบบทดสอบชนิดเลือกตอบ ถ้าแบ่งตามเงื่อนไขของการเลือกตอบจะแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. แบบคำตอบถูกคำตอบเดียว (One Correct Answer) แบบนี้มีตัวเลือกที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว นอกนั้นเป็นตัวลวง เช่น
อำเภอสัตหีบอยู่ในจังหวัดอะไร
ก. ชลบุรี ข. ราชบุรี
ค. สระบุรี ง. จันทบุรี
2. แบบคำตอบดีที่สุด (Best Answer) แบบนี้ตัวเลือกจะถูกทุกข้อแต่จะมีเพียงข้อเดียวที่ถูกต้องมากที่สุด คำสั่งในการตอบจะให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว เช่น
ปัจจุบันสัตว์ป่ามีจำนวนน้อยกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วเพราะเหตุใด
ก. มีคนเพิ่มมากขึ้น ข. สัตว์ป่าเกิดน้อยลง
ค. ป่าไม้ถูกทำลายไปมาก ง. คนนิยมกินสัตว์ป่ามากขึ้น
3. แบบเลือกคำตอบผิด (False Answer) รูปแบบนี้ตรงกันข้ามกับแบบแรกคือมีคำตอบผิดเพียงคำตอบเดียว โดยให้ผู้ตอบเลือกตัวเลือกที่ผิด เช่น
คำในข้อใดเขียนผิด
ก. ใฝ่ฝัน ข. บันใด
ค. ปักษ์ใต้ ง. หลงใหล
4. แบบเปรียบเทียบ (Analogy Type) รูปแบบนี้คำถามจะมีลักษณะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งของสองชนิดโดยใช้เกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วกำหนดสิ่งของที่สามมาให้ ผู้ตอบจะต้องหาสิ่งของที่สี่ให้มีความสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับสองสิ่งแรก เช่น
มะม่วง : ดก ® ปลา : ?
ก. ชุม ข. ชุก
ค. เยอะ ง. หลาย
การสร้างแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ
การสร้างแบบทดสอบชนิดเลือกตอบโดยยึดหลักการจัดจำแนกระดับพฤติกรรมของ Bloom คือ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า รายละเอียดดังนี้
1. การเขียนข้อคำถาม การเขียนข้อคำถามเป็นการเลือกสถานการณ์ที่เป็นตัวแทนของเนื้อหา มาสร้างเป็นสิ่งเร้าเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบได้สนองตอบและแสดงพฤติกรรมออกมา การวัดพฤติกรรมความรู้แต่ละระดับจะมีลักษณะการใช้ข้อคำถามต่างกัน ดังนี้
1.1 ความรู้ ความจำ เป็นการวัดสมรรถภาพสมองด้านการระลึกออกของความจำ เป็นการวัดสิ่งที่เคยเรียน เคยมีประสบการณ์หรือเคยรู้เห็นมาก่อนแล้ว สามารถถามได้ 3 แบบ คือ
1) ถามความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง
- ถามเกี่ยวกับคำศัพท์และนิยาม ได้แก่ การถามชื่อ คำแปล ความหมาย ตัวอย่าง คำตรงข้ามของคำศัพท์ นิยาม สัญลักษณ์ เช่น
สระลดรูปหมายถึงอะไร
ระยะฟักตัวของโรคคือช่วงเวลาใด
- ถามเกี่ยวกับสูตร กฎ ความจริง และความสำคัญ
ถามสูตร กฎ เป็นการถามถึงความหมายของสูตร หลักการ ทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ที่ได้พิสูจน์หรือยอมรับกันแล้ว
ถามความจริง เป็นการถามเนื้อเรื่อง ใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่าน ขนาด จำนวนสิ่งของ สถานที่เกิดเหตุการณ์ เวลา
ถามความสำคัญของเรื่อง คุณสมบัติเด่น – ด้อย วัตถุประสงค์ของเรื่อง ประโยชน์ – โทษ สิทธิ - หน้าที่
เช่น การหาพื้นที่วงกลมต้องใช้สูตรใด
เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีค้นพบที่ใด
2) ถามความรู้เกี่ยวกับวิธีดำเนินการ เป็นการถามวิธีประพฤติปฏิบัติและวิธีดำเนินการ
- ถามวิธีประพฤติปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมประเพณี เช่น
คำประพันธ์ประเภทสดุดีและยอพระเกียรตินิยมแต่งด้วยร้อยกรองชนิดใด
- ถามลำดับขั้นและแนวโน้ม ลำดับที่ เช่น
ข้อใดเป็นลำดับขั้นของการเจริญเติบโตของผีเสื้อ
- ถามการจำแนกประเภท จัดหมวดหมู่ เช่น
ข้อใดไม่ใช่สัตว์ป่าสงวน
- ถามเกณฑ์ คตินิยมในการวินิจฉัย เกณฑ์ในการตรวจสอบ เช่น
ด่างทับทิมไม่ใช่สารประกอบประเภทด่างเพราะอะไร
- ถามวิธีการหรือวิธีดำเนินงาน ขบวนการที่ใช้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น
ข้อใดเป็นหลักการในการเลือกรับอารยธรรมตะวันตก
3) ถามความรู้เกี่ยวกับความรู้รวบยอด
- ถามหลักวิชาและสรุปสาระสำคัญของเรื่องราว เช่น
หลักเบื้องต้นของการปฐมพยาบาลคือข้อใด
- ถามทฤษฎีและโครงสร้างของหลักวิชา เช่น
สี่เหลี่ยมผืนผ้ากับสี่เหลี่ยมด้านขนานมีลักษณะใดที่เหมือนกัน
1.2 ความเข้าใจ เป็นการวัดความสามารถในการนำความรู้ที่มีอยู่แล้วไปแก้ปัญหาใหม่ที่คล้ายกับของเดิม
1) การแปลความ
- ถามการแปลความหมายของคำ กลุ่มคำ ประโยคหรือข้อความ ภาพ สูตร กฎ กราฟ หรือสัญลักษณ์ ให้ยกตัวอย่างคำหรือข้อความ เช่น
“บ๊ะ” เป็นคำพูดในลักษณะใด
- ถามให้แปลถอดความจากภาษาสำนวนโวหาร โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นภาษาสามัญ หรือจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง เช่น
น้ำนิ่งไหลลึก หมายความว่าอย่างไร
2) การตีความ มีรูปแบบคำถามที่สำคัญ 2 แบบ คือ ให้ตีความหมายของเรื่องและให้ตีความหมายของข้อเท็จจริง
- ถามให้นักเรียนสรุปหรือย่อความหมายของเรื่องราวทั้งหมดใหม่ให้สั้นลงแต่ยังคงความหมายเดิม เช่น
คำประพันธ์ข้างต้นให้คติอะไรแก่เรา
- ถามให้ตีความหมายของข้อเท็จจริงซึ่งจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์และเชื่อถือได้ เช่น
ผลการทดลองนี้มีลักษณะเช่นไร
3) การขยายความ เป็นความสามารถในการขยายความคิดให้ลึก กว้างออกไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล การเขียนคำถามประเภทนี้จะต้องมีข้อมูลหรือแนวโน้มเพียงพอที่จะนำมาขยายความได้อย่างสมเหตุสมผล มีแนวการถาม 3 แบบ คือ ถามให้ขยายไปข้างหน้า ถามให้ขยายย้อนไปข้างหลัง และถามให้ขยายในระหว่าง เช่น
เมื่อเกิดน้ำท่วมในเมืองนานๆ จะเกิดโรคชนิดใดตามมา
ถ้าแรงโน้มถ่วงของโลกลดลง จะเกิดอะไรขึ้น
1.3 การนำไปใช้ เป็นความสามารถในการนำเอาความรู้และความเข้าใจที่มีไปแก้ปัญหาแปลกใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว
- ถามความสอดคล้องระหว่างหลักวิชากับการปฏิบัติ เช่น
ข้อใดเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์
- ถามขอบเขตของการใช้หลักวิชาและการปฏิบัติ เช่น
วัตถุชนิดใดควรหาปริมาตรโดยการแทนที่น้ำ
- ถามให้อธิบายหลักวิชา เช่น
เหตุผลในข้อใดที่ทำให้ปริมาณปลาในอ่าวไทยลดน้อยลง
- ถามให้แก้ปัญหา เช่น
ถ้าไม่มีอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เราจะรับประทานอะไรทดแทนเพื่อให้ได้คุณค่าอาหารเหมือนกัน
- ถามเหตุผลของการปฏิบัติ เช่น
ชาวสวนนิยมขยายพันธุ์พุทราด้วยวิธีใด เพราะเหตุใด
1.4 การวิเคราะห์ เป็นความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกเป็นส่วนย่อยตามหลักและกฎเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่
1) การวิเคราะห์ความสำคัญ เป็นความสามารถในการค้นหาส่วนประกอบว่าส่วนใดสำคัญ ส่วนใดเป็นสาเหตุหรือผลลัพธ์
- ถามให้ค้นหาชนิด เพื่อดูว่าสิ่งนั้น เรื่องนั้นจัดอยู่ในประเภทใด พวกใด ในแง่มุมใหม่ เช่น
คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวประเภทใด
- ถามให้วิเคราะห์สิ่งสำคัญ จุดเด่น จุดด้อย เช่น
จุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร
- ถามให้วิเคราะห์เลศนัย เจตนา ความคิดที่แฝงอยู่ เช่น
อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
2) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการค้นหาความสัมพันธ์ เกี่ยวข้อง ระหว่างคุณลักษณะของเรื่องราว เหตุการณ์
- ถามให้หาความสัมพันธ์แบบตามกัน เช่น
ข้อความนี้สนับสนุนอะไร
- ถามให้หาความสัมพันธ์แบบกลับกัน เช่น
ข้อใดขัดแย้งกับกฎเกณฑ์นี้
- ถามให้หาความไม่สัมพันธ์กัน เช่น
สิ่งใดไม่สอดคล้องกับตัวอย่างข้างต้น
- ถามให้หาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับส่วนย่อย เช่น
โคลงบทสุดท้ายเกี่ยวข้องกับบทแรกอย่างไร
- ถามให้หาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับเรื่องทั้งหมด เช่น
สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งใดมากที่สุด
3) การวิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการค้นหาโครงสร้าง ระบบของเรื่องราว เหตุการณ์
- ถามให้หาโครงสร้างของเรื่อง เช่น
ข้อใดไม่ใช่คุณลักษณะที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตบ
- ถามให้หาหลักการของเรื่องราว เหตุการณ์ เช่น
ข้อใดเป็นหลักในการซื้อยา
1.5 การสังเคราะห์ เป็นความสามารถในการรวมสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นสิ่งใหม่ที่คุณลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม
1) การสังเคราะห์ข้อความ เป็นความสามารถในการนำเอาความรู้และประสบการณ์มาผสมกันเพื่อให้เกิดเป็นผลผลิตใหม่ เช่น จากข้อความข้างต้นท่านเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ เพราะเหตุใด
2) การสังเคราะห์แผนงาน เป็นความสามารถในการสร้างแผนงาน เค้าโครงของโครงการ เช่น
ในการทดลองเรื่องความหนาแน่นของน้ำ สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือข้อใด
3) การสังเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการนำเอาความสำคัญและหลักการมาผสมให้เป็นเรื่องเดียวกัน จนทำให้เกิดสิ่งสำเร็จชิ้นใหม่ เช่น
สูตรการหาพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยมพัฒนามาจากสูตรการหาพื้นที่ของรูปใด
1.6 การประเมินค่า เป็นความสามารถในการตีราคาสิ่งต่างๆ โดยการสรุปอย่างมีหลักเกณฑ์ว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า ดี เลว เหมาะสมอย่างไร
1) ประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายใน เป็นการใช้เนื้อหาของเรื่องราวนั้นๆ เป็นเกณฑ์ - ถามให้ประเมินความถูกต้อง เที่ยงตรงของเรื่อง
- ถามให้ประเมินความเป็นเอกพันธ์ของเรื่อง
- ถามให้ประเมินความเหมาะสม ประสิทธิภาพของวิธีการ
- ถามให้ประเมินความสมเหตุสมผลของผลลัพธ์
2) ประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายนอก เป็นการใช้ค่านิยม คุณธรรม หรือเกณฑ์ที่สังคมยอมรับมาวินิจฉัย
- ถามให้ประเมินสรุปตามเกณฑ์ที่กำหนดให้
- ถามให้ประเมินความเด่นด้อยระหว่างของสองสิ่ง
- ถามให้ประเมินความเด่นด้อยกับสิ่งที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน
เช่น วรรณคดีเรื่องใดใกล้เคียงกับชีวิตจริงของมนุษย์มากที่สุด
ในสายตาของคนทั่วไปคิดว่านางวันทองเป็นคนเช่นไร
2. การเขียนตัวเลือก ตัวเลือกที่ดีต้องมีความเป็นเอกพันธ์ คือ มีคุณค่าเท่ากัน ไม่แตกต่างจากตัวเลือกอื่นอย่างเด่นชัด สามารถลวงผู้ที่ไม่มีความรู้จริงและป้องกันการเดาได้ การเขียนตัวเลือกให้มีความเป็นเอกพันธ์มีวิธีการดังนี้
2.1 ตัวเลือกทุกตัวเป็นประเภทเดียวกัน พวกเดียวกัน
ภาคกลางของประเทศไทยมีลักษณะเช่นไร (ไม่ดี)
ก. เป็นที่ราบ ® พื้นที่
ข. มีฝนตกชุก ® ฝน
ค. ปลูกข้าวมาก ® อาชีพ
ง. อากาศอบอุ่น ® อุณหภูมิ
2.2 ตัวเลือกทุกตัวมีโครงสร้างของข้อความและถ้อยคำเป็นแบบเดียวกัน
สาเหตุที่ชาวชนบทอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ คือข้อใด (ไม่ดี)
ก. ความจน
ข. ความแห้งแล้ง
ค. ต้องการความปลอดภัย
ง. ต้องการความสะดวกสบาย
2.3 ตัวเลือกทุกตัวมีความหมายและนัยไปในทิศทางเดียวกัน
สาเหตุที่ชาวชนบทอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ คือข้อใด (ไม่ดี)
ก. ความจน ® ลบ
ข. ความแห้งแล้ง ® ลบ
ค. ความปลอดภัย ® บวก
ง. ความสะดวกสบาย ® บวก
คุณภาพของแบบทดสอบ
แบบทดสอบที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ความเชื่อมั่น (reliability) เป็นความคงเส้นคงวาของของคะแนนที่ได้จากการทดสอบโดยใช้แบบทดสอบนั้นหลายๆ ครั้งกับผู้เข้าสอบกลุ่มเดียวกัน ความเชื่อมั่นเป็นคุณภาพของแบบทดสอบทั้งฉบับ มีค่าตั้งแต่ 0 – 1 โดยมีแนวทางในการพิจารณา ดังนี้
ถ้าความเชื่อมั่นน้อยกว่า 0.70 หมายความว่าความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ (ควรปรับปรุง)
ถ้าความเชื่อมั่นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.70 หมายความว่าความน่าเชื่อถือยอมรับได้ (สังคม / มนุษยศาสตร์)
ถ้าความเชื่อมั่นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.80 หมายความว่าความน่าเชื่อถือยอมรับได้ (วิทยาศาสตร์ / คณิตศาสตร์)
ถ้าความเชื่อมั่นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.90 หมายความว่าความน่าเชื่อถือได้มาตรฐานระดับสากล
2. ความเที่ยงตรง (validity) เป็นความสอดคล้องของแบบทดสอบกับวัตถุประสงค์ในการวัด คือวัดได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะวัด ความเที่ยงตรงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (content validity) หมายถึงคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สามารถวัดเนื้อหาวิชาได้ตรงตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ความเที่ยงตรงตามเกณฑ์ (criterion-related validity) หมายถึงคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สามารถนำคะแนนจากการทดสอบนั้นมาใช้ในการพยากรณ์ผลการเรียนได้
ความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง (construct validity) หมายถึงคุณสมบัติของแบบทดสอบที่สามารถวัดสมรรถภาพของสมองด้านต่างๆ ได้
3. ความเป็นปรนัย (objectivity) เป็นคุณสมบัติของแบบทดสอบ 3 ประการ คือ
- อ่านแล้วเข้าใจตรงกัน
- การตรวจให้คะแนนตรงกัน
- การแปลความหมายของคะแนนตรงกัน
4. ความยาก (difficulty) หมายถึงสัดส่วนของจำนวนผู้ที่ทำข้อสอบถูกกับจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด ความยากมีค่าตั้งแต่ 0 – 1 ใช้สัญลักษณ์ p แทนความยาก โดยมีความหมายดังนี้
ถ้า p <> 0.80 ข้อสอบง่ายมาก
5. อำนาจจำแนก (discrimination) เป็นประสิทธิภาพของข้อสอบในการจำแนกเด็กเก่งออกจาก เด็กอ่อน อำนาจจำแนกมีค่าตั้งแต่ -1 ถึง +1 ใช้สัญลักษณ์ r แทนอำนาจจำแนก โดยมีความหมายดังนี้
ถ้า r <> 0.60 ข้อสอบมีอำนาจจำแนกดีมาก
คุณสมบัติที่ดีของตัวเลือก
1. ค่าความยากง่ายมีค่าอยู่ระหว่าง 0.20 – 0.80
2. ค่าอำนาจจำแนกมีค่าเป็นบวก ตั้งแต่ 0.20 ขึ้นไป
คุณสมบัติที่ดีของตัวลวง
1. ต้องมีผู้เลือกตอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และควรเลือกตอบน้อยกว่าตัวเลือก
2. ค่าอำนาจจำแนกต้องมีค่าเป็นลบ
สรุปแนวทางการตรวจข้อสอบและแก้ไขปรับปรุงข้อสอบ
1. ความสอดคล้อง (Conformity) : Item Spec. หลักสูตร การเรียนการสอน
2. ความชัดเจน (Communicability) : สถานการณ์ คำถาม ตัวเลือก
3. ความเหมาะสม (Suitability) : ความยากง่ายของสถานการณ์ ความยากง่ายของคำถาม ทักษะ / กระบวนการคิด ความเป็นกลาง / ไม่ลำเอียง
4. ความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy) : เฉลยถูกต้อง คำตอบถูกต้องเพียงข้อเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น