พรเพ็ญ ฤทธิลัน
ศึกษานิเทศก์ สพป.กส.3
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาหลักสูตรและการเรียนการสอน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาหลักสูตรและการเรียนการสอน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม จัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบหรือวิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียน การสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และมีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยประเมินจากการปฏิบัติ (Performance Assessment) และประเมินตาม
สภาพจริง (Authentic Assessment) เพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้และคิดเป็น
การสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีการสอนหลายวิธี จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการสอนเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนมีการฝึกทักษะต่าง ๆ ที่หลากหลาย การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หมายถึง การจัดการเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องจากศาสตร์ต่างๆ ของรายวิชาเดียวกัน หรือจากหลายรายวิชามาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความคิดรวบยอดของศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในชีวิตจริงได้
อ่านออก การที่ผู้อ่านรู้จักพยัญชนะ สระและเครื่องหมายต่างๆ สามารถอ่านออกเสียงออกมาเป็นคำได้อย่างถูกต้อง
เขียนได้ หมายถึง ความสามารถในการเขียน และทำความ เข้าใจกับข้อความง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีความหมายครอบคลุมถึงทักษะในการเขียน
คิดเลขเป็น หมายถึง มีวิธีการคิดได้หลายรูปแบบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
ครูผู้สอน จึงควรมีวิธีการหรือแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้เกิดทักษะการอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น โดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแกนกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (Road Map) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรนำกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนให้อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น
ทำไมต้องจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
1. สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น จะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับศาสตร์ในสาขาต่างๆ ผสมผสานกัน ซึ่งทำให้ผู้เรียนที่เรียนรู้เพียงศาสตร์เดี่ยวๆ ไม่สามารถนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยหลายๆ ศาสตร์ได้
2. เป็นการเชื่อมโยงความคิดรวบยอดของศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ (transfer of learning) ของศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้เรียนมองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่เรียนและสามารถนำไปใช้ได้จริง
3. ช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหารายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร จึงทำให้ลดเวลาในการเรียนรู้เนื้อหาบางอย่างลงได้ แล้วไปเพิ่มเวลาให้เนื้อหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
4. วิชาการหรือแนวคิดต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันหรือเกี่ยวข้องกันควรนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย
5. ตอบสนองต่อความสามารถในหลายๆ ด้านของผู้เรียน ช่วยสร้างความรู้ ทักษะ และเจตคติ
6. นักเรียนจะเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง
ลักษณะของการบูรณาการ
การบูรณาการมีหลายลักษณะ หลายแนวความคิด แต่ละลักษณะเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี ในบางครั้งครูอาจบูรณาการหลายลักษณะเข้าด้วยกัน สุดแล้วแต่ความคิดของครูแต่ละคนและความเหมาะสมเป็นเรื่องๆ ไป สำหรับการบูรณาการ ที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการเรียนการสอนทางด้านวิชาชีพ มีดังนี้
1. การบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระ เป็นการบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระ ผสมผสานเชื่อมโยงเนื้อหาสาระหรือองค์ความรู้ในลักษณะ
ของการหลอมรวมกัน เนื้อหาสาระที่นำมารวมกันจะมีลักษณะคล้ายกัน สัมพันธ์กัน หรือต่อเนื่องกัน แล้วเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงการบูรณาการเนื้อหาสาระรายวิชาสามัญเข้ากับเนื้อหาสาระทางด้านวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหรือที่ศึกษา
2. การบูรณาการเชิงวิธีการ การบูรณาการเชิงวิธีการเป็นการผสมผสานวิธีการสอนแบบต่าง ๆ เข้าในการสอน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีสอนหลาย ๆ วิธี ใช้สื่อการเรียนการสอนแบบสื่อประสมใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติอย่างสัมพันธ์กันให้มากที่สุด เช่น ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาไทย ครูสามารถบูรณาการเชิงวิธีการด้วยการใช้เทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ได้หลายวิธี ได้แก่ การสนทนา การอภิปราย การใช้คำถาม การบรรยาย การค้นคว้าและการทำงานกลุ่ม การไปศึกษานอกห้องเรียน และการนำเสนอข้อมูล เป็นต้น
3. การบูรณาการความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ในอดีต ครูมักเป็นผู้บอกหรือให้ความรู้แก่นักเรียนโดยตรง นักเรียนเป็นฝ่ายรับสิ่งที่ครูหยิบยื่นให้ แล้วแต่ความสามารถของนักเรียนว่าใครจะตักตวงได้เท่าไรและจะเหลือเก็บไว้ได้เท่าไร แต่ในปัจจุบันมีแนวความคิดเปลี่ยนไป จากการเน้นที่องค์ความรู้มาเป็นเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนพัฒนาวิธีการแสวงหาความรู้และการได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ต้องการ และกระบวนการเรียนรู้จะเป็นสิ่งที่ตกตะกอนติดตัวนักเรียนไว้ใช้ได้ตลอดไป เพราะสังคมสมัยใหม่ มีสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้มากมาย มีปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ครูไม่สามารถตามไปสอนได้ทุกที่ หรือนักเรียนไม่สามารถมาถามครูได้ทุกเรื่องนักเรียนจึงจำเป็นที่ต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยมีกระบวนการการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนอยู่ในใจ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครูอาจแนะนำให้นักเรียนใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด ในการให้ได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องที่ต้องการ เป็นต้น
4. การบูรณาการความรู้ ความคิด กับคุณธรรม ในสภาพการจัดการเรียนการสอนตามความเป็นจริงส่วนใหญ่ จุดประสงค์มักเน้นไปที่ด้านพุทธิพิสัยมากกว่าด้านจิตพิสัย บุคคลใดที่จะได้รับคำชมว่าเก่งต้องเด่นในด้านความรู้ซึ่งเป็นค่านิยมมาแต่เดิม โดยหลักการแล้วควรให้ความสำคัญแก่ความรู้และคุณธรรมเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ครูจะจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนโดยบูรณาการความรู้ ความคิด และคุณธรรมเข้าด้วยกัน อาจเป็นการสอนเนื้อหาสาระโดยใช้วิธีการต่าง ๆ และใช้เทคนิคการสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปโดยที่นักเรียนไม่รู้ตัว จนกระทั่งเกิดความซึมซาบเป็นธรรมชาติ เช่น การสอนเรื่องสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ ทั้งของตนเองและผู้อื่นเท่านั้น เพราะจะทำให้นักเรียนคิดแต่สิ่งที่ตนพึงจะได้รับ หรือพึงมีตามกฎหมาย แต่นักเรียนจะขาดคุณลักษณะในด้านคุณธรรม ดังนั้น ครูจึงควรสอนสอดแทรกคุณธรรมด้านต่าง ๆ เช่น ความรับผิดชอบ ความสามัคคี ความเอื้ออาทร การช่วยเหลือกัน ความเมตตากรุณา หรือการตรงต่อเวลา ตามความเหมาะสม เพื่อนักเรียนจะได้เป็น “ผู้มีความรู้คู่คุณธรรม”
5. การบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติ ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับการปฏิบัติ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป อาจลืมความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้นั้นได้ แต่ถ้าความรู้นั้นเชื่อมโยงไปกับการปฏิบัติจะทำให้ความรู้นั้นติดตัวไปได้ยาวนาน ไม่ลืมง่าย เช่น การเรียนรู้เรื่องพวงมาลัยและวิธีการร้อยพวงมาลัยแบบต่าง ๆ โอกาสในการใช้พวงมาลัย วัสดุอุปกรณ์ในการร้อยพวงมาลัย ซึ่งหากเป็น การสอนแค่ความรู้ขณะเรียน นักเรียนจะมีความรู้ความเข้าใจได้ แต่จะไม่คงทน เพราะอาจลืมในเวลาต่อมา แต่ถ้าครูสอนให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติการร้อยพวงมาลัยแต่ละแบบประกอบไปด้วย จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นไม่ลืมง่าย และขณะฝึกปฏิบัตินักเรียนอาจพบปัญหาต่าง ๆ นักเรียนก็จะสามารถคิดและใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาได้ด้วย
6. การบูรณาการความรู้ในโรงเรียนกับชีวิตจริงของนักเรียน ในการจัดการเรียนการสอน ‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่ผู้สอนทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้นภายในตัวนักเรียน แต่ความรู้นั้น ไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนเกิดความแปลกแยกกับชีวิตจริง เพราะจะทำให้นักเรียนไม่เห็นคุณค่า ไม่มีความหมาย และไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ตัวนักเรียน ดังนั้น สิ่งที่ครูสอนหรือให้นักเรียนเรียนรู้ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ควรเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กับชีวิตของนักเรียน และเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือนักเรียนในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิต และคุณลักษณะของนักเรียน จะทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าและความหมายของสิ่งที่เรียน อีกทั้งเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนเกิดความต้องการในการเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การสอนเรื่องอาหาร การป้องกันโรคติดต่อ การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เมื่อเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ครูควรเชื่อมโยงให้นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตของเขา
การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
การจัดทำแผนการสอนแบบบูรณาการ เป็นการนำวิชาหรือสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการสร้างหัวข้อเรื่องที่มีความสอดคล้องกับวิชานั้น ๆ เข้าด้วยกัน ผู้สอนต้องคำนึงสิ่งต่อไปนี้
1. การเลือกหัวเรื่อง จากประเด็นต่างๆ ที่ต้องการเรียน เช่น ประเด็นแนวคิด ประเด็นของเนื้อหา เมื่อได้แล้วนำจุดประสงค์ของการสอนอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น ที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียน เข้ามาสร้างเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
2. การนำจุดประสงค์ที่ต้องการให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น ที่สัมพันธ์กันมาสร้างเป็นหัวข้อเรื่องและนำมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
ดังนั้น หลังจากที่ครูผู้สอน ได้จัดลำดับเนื้อหาสาระภายในหัวข้อเรื่องและวางแผนจัดกิจกรรม บูรณาการทุกหัวข้อเรื่องแล้ว จึงวางแผนเขียนแผนการจัดการเรียนรู้/แผนการสอนแบบบูรณาการ ซึ่งแผนการจัดการเรียนรู้นี้เป็นที่รวมขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญ ในการออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าจะสอนหัวข้อใดระดับชั้นใด มีจุดประสงค์การเรียนรู้อย่างไร มีวิธีการจัดกิจกรรมอย่างไรบ้าง รวมทั้งใช้สื่อประกอบการเรียนการสอน และ มีวิธีการวัดและประเมินผลอย่างไร
เทคนิควิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้แบบบูรณาการ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการมีเทคนิควิธีการจัดการและประเมินผลหลากหลายวิธี ครูผู้สอนสามารถเลือกวิธีใช้ได้ตามความเหมาะสมกับเนื้อหาหรือรูปแบบการบูรณาการ และเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นแบบผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ เน้นการฝึกปฏิบัติตามกระบวนการ เพื่อให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้และคิดเป็น รวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลผู้สอนจึงต้องเลือกใช้ให้หลากหลาย และดำเนินการควบคู่กันไปในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการวัดและประเมินผลผู้เรียน ให้ได้ครบถ้วนทุกด้านให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร วิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้แบบบูรณาการ ได้แก่ การสังเกต การบันทึกประจำวัน การตอบปากเปล่า การอ่านออกเสียง การเขียนตามคำบอก การเขียนเรื่องจากภาพ การเขียนคำตอบหรือความเรียง การแก้โจทย์ปัญหา การประเมินตนเองหรือกลุ่ม การสัมภาษณ์ การใช้แฟ้มสะสมงาน การทำโครงงาน การใช้คะแนนแบบรูบิค (Scoring Rubrics) หรือเกณฑ์คุณภาพ การใช้แบบทดสอบ เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง
ประพนธ์ จุนทวิเทศ. http://www.bpcd.net/new_subject/ general/Articles/06.pdf
ประสงค์ เมธีพินิตกุล. “การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการภาษาไทย และคณิตศาสตร์ ในโรงเรียนขนาดเล็ก,” วิชาการ. 13 (1). มกราคม – มีนาคม 2553.
สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์. การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ. กรุงเทพ ฯ. บุ๊ค พอยท์. 2546.
http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php?topic=22.0
http://www.edu.buu.ac.th/journal/.../Link_Jounal%20edu_14_1.pdf
http://www.gmcities.com/board/index.php?topic=784.0
http://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type2/thai04/07/reading_2.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น